บทความเชิงคำถาม อะไรคือตัวตัดสินในการเลือกซื้อเกมของคุณ ปัจจัยที่ผมยกตัวอย่างมานี้เชื่อว่าต้องตรงกับใครหลายคนซึ่งแต่ละคนย่อมมีแนวทางที่แตกต่างกัน ข้อไหนตรงกับสไตล์ของผู้อ่านบ้าง สามารถแสดงความคิดเห็นกันเข้ามาได้ครับ
สื่อดังแนะมา
‘สื่อ’ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเว็บไซต์หรือรูปแบบนิตยสาร ทั้งสองอย่างย่อมมีอิทธิพลต่อวงการวีดิโอเกมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Polygon ,IGN และ Eurogamer หรือฝั่งนิตยสารอย่างเช่น GameInformer และ Edge ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีผู้ติดตามมากมาย อย่างการโปรยข่าวระหว่างการพัฒนา การพรีวิวลูกเล่นเกม วีดิโอเกมเพลย์ โดยเฉพาะการหยิบเกมมารีวิวก่อนที่จะปล่อยให้ฝั่งยูเซอร์ธรรมดาได้เล่นกันจริงๆ ด้วยการเขียนวิจารณ์และคะแนนรีวิวย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อไม่มากก็น้อย คำถามคือ สื่อมีผลที่สุดต่อการตัดสินใจซื้อเกมของคุณใช่หรือไม่?
ศรัทธาต่อผู้จัดจำหน่าย
ปัจจุบันวงการวีดิโอเกมมีผู้จัดจำหน่ายมากมายหลายเจ้า ล้มหายตายจากไปก็มาก แต่นับเอาที่คุ้นหน้าในปัจจุบันก็อย่างเช่น EA ,Take-Two ,Ubisoft ,Square Enix และ Capcom ทุกค่ายล้วนแล้วแต่มีเกมเด็ดของตัวเองที่สามารถเรียกแรงศรัทธาจากเกมเมอร์ อย่างเช่น Ubisoft มี Assassin’s Creed เป็นโลโก้ ,EA ก็มีซีรีย์ Battlefield เป็นต้น แต่แรงศรัทธาต่อเหล่าผู้จัดจำหน่ายมักจะตกไปอยู่ที่ปัจจัยเรื่องราคา การกำหนดทิศทางของเกม การตลาด ทุกสิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถทำให้เหล่าเกมเมอร์ไม่รักก็เกลียดไปเลย ว่าแต่เราเผลอไปศรัทธาแต่ไม่รู้สึกตัวกับบางค่ายอยู่รึเปล่านะ?
เดินตามทีมพัฒนา
ในเมื่อศรัทธาต่อผู้จัดจำหน่ายก็ต้องย่อมมีความเลื่อมใสอย่างแรงกล้าต่อทีมพัฒนาโปรด ยกตัวอย่างง่ายๆอย่าง Call of Duty ที่สมัยก่อนเรามักจะได้เห็นสองค่ายสลับการพัฒนามาโดยตลอดคือ Infinity Ward และ Treyarch ตรงนี้เชื่อว่าต้องมีแฟน Call of Duty ส่วนหนึ่งที่มักจะเลือกเล่นเกมของทีมใดทีมหนึ่งเป็นหลักอย่างแน่นอน แม้หัวหอกของทีมอย่าง Vince Zampella จะลาออกไปตั้งสตูดิโอใหม่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้ความเลื่อมใสต่อทีมพัฒนานั้นลดลง …อาจเป็นเพราะไม่รู้จัก แต่เอาเถอะ มันก็ไม่ต่างจากการเลือกใช้แบรนผลิตภัณฑ์อะไรสักอย่างโดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปรู้จักกับผู้บริหาร จริงไหม?
นักพัฒนาคนโปรด
หนทางที่อินดี้ขึ้นมาอีกหน่อยต่อจากเดินตามทีมพัฒนา สำหรับเกมเมอร์เนิร์ดๆแล้วการได้เห็นนักพัฒนาคนโปรดคงไม่ต่างอะไรกับการได้เห็นเหล่าเซเลบริตี้ชื่อดังบนพรมแดงฮอลลีวูด อย่างเช่น Vince Zampella ที่ผมได้พูดไปด้านบนซึ่งลาขาดกับ Activision เพื่อไปตั้งสตูดิโอ Respawn Entertainment พัฒนา Titanfall ซึ่งมีแฟนเกม Call of Duty ไม่น้อยที่แห่แหนตามไป หรือจะเป็น Ken Levine เกมดีไซเนอร์ชื่อดังผู้สร้าง Bioshock ที่แม้จะประกาศออกมาว่าจะปิดตัว Irrational Games ในปี 2014 นี้เพื่อไปสร้างเกมอินดี้ในรูปแบบที่สามารถหยิบกลับมาเล่นใหม่ได้หลายครั้ง ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่อยากรู้ว่าเกมใหม่ของ Ken Levine จะเป็นอย่างไร แล้วท่านผู้อ่านมีนักพัฒนาคนโปรดในใจหรือยัง?
ภาคต่อ เลิกไม่ได้
ถึงแม้เราจะเคยเห็นทาง EA จดโดเมนของ Battlefield ที่ล่อไปถึงภาค 20 ด้วยความเชื่อส่วนตัวแล้วหากเราได้เห็นภาคหลักสิบจริงก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไรนัก หรือแม้แต่ Call of Duty หากนับกันเป็นตัวเลขเอาเฉพาะที่ลงให้ PC และฝั่งคอนโซลก็ปาเข้าไป 11 ภาคได้หากรวม Advanced Warfare เข้าไป นี่ยังไม่นับภาคที่ลงให้กับแพลตฟอร์มมือถือนะนั่น ด้วยการที่มันเป็นภาคต่อนับว่าเป็นแรงจูงใจอย่างดีเยี่ยมที่จะเรียกฐานเสียงของเหล่าเกมเมอร์ภาคเก่าให้ควักเงินออกจากกระเป๋าได้อย่างไม่ยากเย็นและอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราตั้งคำถามว่าในเมื่อเกมเปลี่ยนแนวทางทำไมไม่ตั้งชื่อเป็นชื่อใหม่ไปเสีย ก็เพราะว่าหากเคยเล่นภาคก่อนหน้านี้มาโดยตลอด แม้บางครั้งเกมภาคต่อที่ปล่อยออกมาจะทำให้ผู้เล่นบ่นปากเปียกปากแฉะ แต่ในเมื่อมีการประกาศภาคต่อไปอีกภาคหนึ่งหลายคนก็พร้อมที่จะควักเงินในกระเป๋าซะแล้ว …มีไหม?
คนดังบอกสนุก
นี่ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในวงการวีดิโอเกมปัจจุบัน การที่ YouTube เข้ามามีบทบาทมากขึ้นย่อมทำให้คนที่มีความสามารถได้ออกมาโชว์ฝีไม้ลายมือการเล่นเกมหรือการวิจารณ์เกมกันมากขึ้น ยกตัวอย่างในปัจจุบันอย่างเช่น PewDiePie ผู้ที่มีคนกดติดตามมากที่สุดบน YouTube กับสไตล์พูดไปเล่นไปเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มจากผู้ชม หรือจะเป็น Angry Joe กับการรีวิววิจารณ์เกมอย่างตรงไปตรงมาแบบฮาร์ดคอร์ แม้แต่ในไทยเราก็ยังได้เห็นบุคคลที่มีความสามารถในวงการเกมอย่างเช่น CastBy9Arm ชาแนลบน YouTube ที่หยิบเกมมารีวิว การจัดรูปแบบรายการ การนำเสนอได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้สื่อเมืองนอก หรือจะเป็น ขอรบกวนทั้งชุดนอน กับสไตล์การเล่นเกมเน้นเนื้อเรื่องและแฝงข้อคิดไม่ต่างจากผู้ปกครองสอนบุตรหลาน เป็นต้น …บุคคลที่ว่ามาเหล่านี้ล้วนแล้วมีผลต่อการตัดสินใจซื้อเกมของเหล่าผู้ชมเป็นอย่างดีไม่แพ้สื่อเว็บไซต์หรือนิตยสาร ว่าแต่ใครคือนักเล่นเกมหรือจัดรายการในดวงใจของผู้อ่านครับ?
เงินของเรา ทางของเรา
ข้อสุดท้าย เงินของเรา ทางของเรา เกมเมอร์ที่ใช้การตัดสินใจของตัวเองเป็นเสียงส่วนใหญ่ในการซื้อเกม ไม่ว่าจะเป็นการสืบค้นข้อมูลด้วยตัวเอง การติดตามอ่านพรีวิวหรือรีวิวจากหลายๆเว็บ การซาวเสียงผู้เล่นคนอื่น การติดตามข้อมูลโดยตรงจากเหล่าทีมพัฒนาทุกฝีก้าวจนมั่นใจว่าเกมที่เรากำลังเล็งอยู่นี้คือเกมที่ใช่และเต็มใจจ่ายเงินเพราะเราทำความรู้จักมันดีแล้ว จะเรียกว่าเป็นการนำทุกข้อที่กล่าวมาด้านบนมาผสมกันจากนั้นใช้การตัดสินใจของตัวเองเป็นหลักก็คงไม่ผิดนัก ผู้อ่านคนไหนจัดอยู่ในประเภทนี้ ยกมือ!
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆจาก JUROPY ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น